วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทความ วินัยนั้นสำคัญไฉน

วินัยคืออะไร

* วินัย เป็นการช่วยให้เด็กพัฒนาการรู้จักการควบคุมตนเอง และมีนิสัยที่ดีโดยการสั่งสอนและฝึกฝนปฏิบัติ
* ภาคปฏิบัติหมายถึงการชี้แจงอธิบายถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เมื่อเชื่อฟังและไม่เชื่อฟังให้เด็กเข้าใจอย่างชัดเจน
* อย่าพูดแต่ว่าเดี๋ยวเถอะๆ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
* ส่วนแรกของการสร้างวินัยเด็ก คือการชี้ให้เห็นว่าอะไรคือนิสัยและคือท่าทีที่ถูกต้อง
* ส่วนต่อมาคือการให้รางวัลหรือชมเชยเมื่อมีนิสัยและท่าทีที่ถูกต้อง รวมทั้งผลลัพธ์ของนิสัยและท่าทีที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง

อะไรที่ไม่ใช่วินัย

* ตะโกน ตะคอก เมื่อเด็กมีนิสัยไม่ดีหรือทำไม่ถูกต้อง
* ประชดเด็กเมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
* ใช้การขู่แต่ไม่ทำจริงจังเมื่อเด็กมีการประพฤติที่ไม่ดี
* ลงไม้ลงมือด้วยอารมณ์เมื่อเด็กทำผิด

ทำไมต้องมีวินัย

1.มีข้อพระคัมภีร์มากมายที่บอกให้เราลงวินัยลูก
สภษ.19:18 จงตีสอนบุตรชายของตนเมื่อยังมีความหวัง อย่าหมดกำลังใจเพราะเหตุการร้องไห้ของเขา
สภษ. 29:17 จงฝึกสอนบุตรชายของเจ้า และเขาจะให้เจ้าได้หยุดพัก เออ เขาจะให้ความปีติยินดีแก่ใจของเจ้า
สภษ. 22:6 จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาชราแล้ว เขาจะไม่พรากจากทางนั้น
2. เป็นหนทางห่งความรักที่เลี้ยงดูแลลูก บางคนเลี้ยงลูกด้วยการตามใจซื้อทุกอย่างที่ลูกอยากได้ ไม่เคยขัดใจลูก กลัวลูกจะไม่รัก นั่นเป็นการเลี้ยงลูกที่ผิดวิธี
สภษ. 13:24 บุคคลที่สงวนไม้เรียวก็เกลียดบุตรชายของตน แต่ผู้ที่รักเขาพยายามตีสอนเขาทันเวลา
สภษ. 3:11 บุตรชายของเราเอ๋ย อย่าดูหมิ่นการตีสอนของพระเยโฮวาห์ หรือเบื่อหน่ายต่อการตักเตือนของพระองค์ ข้อที่ 12 เพราะพระเยโฮวาห์ทรงตักเตือนผู้ที่พระองค์ทรงรัก ดังบิดาตักเตือนบุตรชายผู้ที่เขาปีติชื่นชม
3. เป็นวิธีเดียวกับที่พระเจ้าใช้กับเรา พระองค์ตีสอนผู้ที่พระองค์รัก
วิวรณ์ 3.19เรารักผู้ใด เราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น เหตุฉะนั้นจงมีความกระตือรือร้น และกลับใจเสียใหม่
4. การไม่สร้างวินัยให้ลูก เท่ากับทำให้ลูกพิการตลอดชีวิต
ถ้าผู้ปกครองไม่สอนลูกของตนในการควบคุมความอยาก ความใคร่ การกระทำ ก็ยากที่จะให้คนอื่นมาสอนลูกของตนได้
การขาดการรู้จักการควบคุมตนเอง จะมีผลทำให้ยากที่จะรักษาหน้าที่การงานให้มั่นคง หรือมีความผูกพันที่ดีกับคนรอบข้าง
เด็กที่โตแต่ไม่มีการควบคุมตนเองและไม่มีวินัยในตนเองจะเป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่ได้ เป็นภาระแก่คนรอบข้าง
พ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้าดูแลลูกได้ตลอด
5. ถ้าผู้ปกครองไม่สอนเด็กในการควบคุมตนเอง เมื่อโตขึ้นรัฐบาลก็จะต้องเข้ามาจัดการ ในสมัยของโมเสสพระเจ้ามีคำสั่งให้ลงวินัยผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักการควบคุมตนเองโดยการเอาหินข้วางตาย ปัจจุบันจับขังคุก หรือประหารชีวิต
ฉธบ. 21:18 ถ้าชายคนใดมีบุตรชายที่ดื้อและไม่อยู่ในโอวาท ไม่เชื่อฟังเสียงของบิดาของตน หรือเสียงของมารดาของตน แม้ว่าบิดามารดาจะได้ตีสอน เขาก็ไม่ยอมฟัง
ฉธบ. 21:19 ให้บิดามารดาจับตัวเขาให้ออกมาหาพวกผู้ใหญ่ของเมืองนั้น ณ ประตูเมืองที่เขาอาศัยอยู่
ฉธบ. 21:20 และเขาจะพูดกับพวกผู้ใหญ่ของเมืองนั้นว่า `บุตรชายของเราคนนี้เป็นคนดื้อดึงและไม่อยู่ในโอวาท ไม่เชื่อฟังเสียงเรา เป็นคนตะกละและขี้เมา'
ฉธบ. 21:21 แล้วบรรดาผู้ชายในเมืองนั้นจะเอาหินขว้างเขาให้ตาย ดังนั้นท่านจะได้กำจัดความชั่วเสียจากท่ามกลางท่าน คนอิสราเอลทั้งปวงจะได้ยินและยำเกรง  

เราจะลงวินัยอย่างไร

1.พ่อแม่ต้องร่วมมือกัน พ่อแม่จะต้องตกลงกฎและวิธีในการลงวินัยลูก
ทั้งสองจะต้องชัดเจนในเรื่องนี้แล้วแจ้งให้ลูกรับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ
พ่อแม่จะต้องปรึกษากัน ใช้เวลาหารือ วางแผนกฎระเบียบต่างร่วมกันอยู่เสมอ มิฉะนั้นเด็กจะรู้ทันและทำให้พ่อแม่ขัดแย้งกัน สร้างความแตกแยกและหงุดหงิดภายในครอบครัว
2.สอนกฎและอธิบายสาเหตุของการมีกฎระเบียบให้เด็กฟัง พร้อมทั้งบอกให้เด็กทราบถึงผลลัพธ์ถ้าไม่มีการเชื่อฟัง ตัวอย่างในพระคัมภีร์ เฉลยธรรมบัญญัติ 28.2-20
3. จงสม่ำเสมอและรักษากฏระเบียบให้คงเส้นคงวา
นี่เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ปกครองที่ยุ่ง ไม่ค่อยมีเวลาที่จะหยุดทุกอย่างเพื่อจะมาลงวินัยเมื่อต้องการ
ปัญหาอีกประการหนึ่ง คืออารมณ์ผู้ปกครอง เมื่อเครียดการลงวินัยมักจะรุนแรงกว่าเมื่อไม่เครียด บางครั้งก็ปล่อยปละละเลยการลงวินัยเมื่อมีการประพฤติผิดจริงๆ เด็กจะสับสน พ่อแม่จะต้องรักษาความคงเส้นคงวา สม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย
4. เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎ จะต้องถูกรับโทษ

การลงโทษ

1.จะต้องสมดุลย์ มีเหตุมีผลกับสิ่งที่ทำผิด
2.เหมาะสมกับวัยคนนั้นๆ
3.เหมาะสมกับนิสัยของเด็กคนนั้นๆ เด็กบางคนอาจจะอ่อนไหวง่ายกว่าเด็กคนอื่น แค่ขึ้นเสียงเด็กก็กลัวแล้ว แต่บางคนต้องลงโทษอย่างแรงจึงจะสำนึกว่าไม่ทำสิ่งนั้นๆอีก
4.สำหรับวัยรุ่น การลงโทษที่มีผลคือการตัดสิทธิ์บางอย่างของเขา
5.ขอเน้นว่า การลงวินัย จะต้องกระทำด้วยท่าทีแห่งความรัก ไม่ใช่ความโกรธ หรือ อารมณ์เสีย

สรุป

1.เมื่อมีการลงวินัย พ่อแม่จะต้องพึ่งสำนึกถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ลงวินัย(Subjectively VS Objectively)
2.พ่อแม่อย่าเอาแต่อารมณ์เสียกับลูก แทนที่จะคิดว่าการลงวินัยจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงลูกของเราอย่างไรบ้าง หรือแม้ว่าจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงแต่การลงวินัยนี้อย่างน้อยก็จะทำให้เด็กไม่สะดวกที่จะทำตามใจตนเองในสิ่งผิดๆเหล่านั้นอีก
3.อย่ากลัวที่จะทำให้เด็กโมโห พ่อแม่บางคนไม่กล้าลงวินัยลูก กลัวลูกจะโกรธ จริงอยู่ที่เด็กอาจจะไม่ชอบคุณเวลาถูกลงวินัยแต่คุณแน่ใจได้เลยว่าคุณกำลังช่วยเหลือเขาไว้สำหรับในอนาคต Heb 12:11 ดังนั้นการตีสอนทุกอย่างเมื่อกำลังถูกอยู่นั้นไม่เป็นการชื่นใจเลย แต่เป็นการเศร้าใจ แต่ภายหลังก็กระทำให้เกิดผลเป็นความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น คือความชอบธรรมนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น